×
 เข้าสู่ระบบ  สมครสมาชิก

FaceBook Messenger LINE ID: @confirmedtour Call. 02-931-7013 Call. 02-931-7014 Call. 02-931-7015 Call. 093-130-0073
ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน
เปิดอ่าน  2440  ครั้ง โพสต์ 6 พ.ย. 63 เวลา 11:57 น.

ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน...

 

ข้าวแลกปลา โครงการแลกเปลี่ยนอาหารจากคนไทยถึงคนไทย

image alternate text

จากวิกฤติขาดแคลนอาหารของพี่น้องชาวเล สู่การพลิกฟื้นวัฒนธรรมแลกข้าวแลกปลาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

จากวิกฤติโรคระบาท Covid-19 นับตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2562 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกหันมาสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งพลิกกลับมาเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้ง ที่ใช้คำว่า ‘กลับมา’ ก็เพราะว่าแต่เดิมวิถีของเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม คือการสะสม ‘อาหาร’ เป็นหลัก ทำให้เรามีวัฒนธรรมการถนอมอาหาร การยืดอายุและการเก็บรักษาของสดของแห้งอย่างหลากหลาย

หากแต่เมื่อธุรกิจหลักของประเทศขยับเข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมมากขึ้น การสะสมอาหารจึงค่อยเปลี่ยนไปเป็นการสะสมเงินทอง เพราะเงินกลายเป็นหลักประกันที่จะทำให้ชีวิตมีความมั่นคงได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่าจากวิถีในอดีตที่เราตื่นมาเพื่อ ‘หาอาหารกิน’ ก็กลายเป็นการตื่นขึ้นมาเพื่อ ‘หาเงิน’ แล้วนำไปจับจ่ายซื้ออาหาร ซื้อความสะดวกสบาย และซื้อความมั่นคงอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เป็นเพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ขยับไปตามการพัฒนาของโลกทั้งใบเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป คนมีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้ออาหารได้โดยง่าย ส่วนคนที่ไม่มีเงินทองสะสมก็ยิ่งจะลำบากขึ้นกว่าเดิมทวีคูณ เพราะนอกจากจะไม่มีเงินสำรองแล้ว ยังไม่มีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง Covid-19 ส่งผลกระทบต่อคนแต่ละคนมากน้อยต่างกัน คนในเมืองที่หาเช้ากินค่ำตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่กับคนบางกลุ่มอย่างเช่นชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เลียบชายฝั่งได้รับผลกระทบที่แตกต่างออกไป

พี่น้องชาวเล โดยเฉพาะชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย ราไวย์ มอแกน และมอแกลน ที่ไม่มีวัฒนธรรมการสะสมอาหาร เมื่อถึงคราวที่มีคำสั่งปิดจังหวัด ปิดตลาด จากเดิมที่เคยจับปลาทะเลสดๆ มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อนำไปซื้อข้าว ซื้ออาหาร ก็ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนข้าว แม้จะยังหาปลา หาสัตว์ทะเลได้เหมือนเดิม แต่กลับไม่มีช่องทางในการค้าขายแลกเปลี่ยนแม้แต่วิธีเดียว

ความขาดแคลนในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดโครงการ ‘ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล’ ขึ้น โดยการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมหลายหน่วยงาน ความร่วมมือของคนไทยเพื่อคนไทยเช่นนี้ วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนอาหารจึงกลับมาเป็นคำตอบ ที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารได้อย่างน่าชื่นชม

เรามีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนของภาคประชาสังคมหลายฝ่ายที่มีส่วนในการผลักดัน ขับเคลื่อนโครงการแลกเปลี่ยนอาหารครั้งนี้ให้เกิดขึ้น จึงขอจดบันทึกและถ่ายทอดความตั้งใจ และถ่ายทอดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนอาหารที่ฟื้นคืนกลับมาใหม่ในคืนวันที่โรคระบาดชี้ให้เราเห็นว่า เงินทองคือของมายา ข้าวปลาคือของจริง

ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล
ไมตรี จงไกรจักร (ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท)

แต่เดิมเนี่ยการแลกเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติพันธุ์ชายฝั่งอยู่แล้วนะครับ 30-40 ปีก่อนนี้ชาวราไวย์ ชาวมอแกน ไม่ได้จับปลามาขาย แต่เอามาแลกเปลี่ยนอาหาร แลกเปลี่ยนของจำเป็นกับคนบนฝั่ง แต่ภายหลังคนบนฝั่งเริ่มแลกเปลี่ยนน้อยลง เพราะพอมันมีเรื่องการค้าขายมากขึ้น เราก็ต้องนึกถึงกำไรต้นทุนเป็นธรรมดา วัฒนธรรมนี้เลยค่อยๆ หายไป ก็กลายเป็นว่าปัจจุบันนี้จับปลาได้ก็เอามาขาย ได้เงินไปก็ค่อยไปซื้ออาหาร ซื้อของใช้จำเป็นอีกต่อหนึ่ง

ทีนี้ด้วยความที่ทางมูลนิธิฯ เราทำงานกับชุมชนของพี่น้องชาวเลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิชุมชน และเรื่องศิลปะวัฒนธรรม เราจึงมีการติดต่อกับชุมชนชาวเลกว่า 46 ชุมชนมานานมากแล้ว คือราว 15 ปี เราก็เลยได้รับรู้ถึงความเป็นอยู่ขอเขามาโดยตลอด ยิ่งกับช่วงที่มี Covid-19 สิ่งแรกที่เห็นก็คือภูเก็ตมีการประกาศปิดเกาะ นั่นหมายความว่าพี่น้องราไวย์ที่อยู่ภูเก็ตจะไม่มีเงินซื้อข้าวสารแน่ๆ เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวราไวย์จะไม่มีการสะสมอาหาร ซึ่งในพื้นที่ภูเก็ตเนี่ย อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เราคุ้นเคยกันคือพี่น้องราไวย์ 230 ครอบครัว ประมาณ 1,700 คนเลย เราจึงคิดหาวิธีการที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงอาหารได้ในสถานการณ์ของโรคระบาดนี้

ก็ได้ความร่วมมือจากสื่อหลายแห่งที่คุ้นเคยกัน อย่างเช่นสำนักข่าวชายขอบ และช่อง TNN ที่เคยมาลงพื้นที่ เข้าใจวิธีของชาติพันธุ์ที่นี่ ก็ช่วยกระจายข่าวให้ ทำให้เราได้รับข้อเสนอจากชาวนาหลายแห่ง ที่แรกเลยก็คือได้รับน้ำใจจากพี่น้องปกาเกอะญอ ซึ่งตอนนั้นก็กำลังมีปัญหาเรื่องไฟป่าอยู่เหมือนกันนะ เขาก็กำลังลำบากอยู่ แต่ว่าชาวปกาเกอะญอเนี่ยจะทำข้าวไร่ แล้วก็จะมีข้าวเก็บไว้อยู่แล้ว เขาก็เสนอมาว่าเรามาแลกกัน เลยเกิดเป็นโครงการขึ้นมาง่ายๆ เลย เป็นโครงการข้าวแลกปลาขึ้น

แต่ทีนี้ เราได้ข้าวจากทางชาวนายโสธรก่อน เพราะว่าทางสมาคมชาวยโสธรนี่เขาเคยทำโครงการช่วยน้ำท่วมโดยร่วมมือกับทหารอากาศมาก่อน เรื่องการขนส่งก็เลยสะดวกกว่า ใช้เวลารวบรวมและขนส่งไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เราก็ได้ข้าวมาให้พี่น้องชาวเลเลย 7 ตัน แล้วก็มีพี่น้องชาวนาจากจังหวัดสุรินทร์ส่งข้าวมาให้เราอีก ด้วยความร่วมมือเรื่อง logistic จากรถมูลนิธิช้างไทย เราก็ได้ข้าวส่วนนี้แหละขยายโครงการไปในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ทั้งพังงา ระนอง ภูเก็ต สตูล กระบี่ เรียกว่าเป็นโครงการเฟสแรกที่ดีมาก ในขณะที่ชาวเลก็หาปลาและแปรรูปเป็นอาหารทะเลตากแห้ง เพื่อส่งกลับไปแลกกับข้าวที่ได้มา

หลังจากนั้นก็มีทางกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ก็เห็นว่าโครงการนี้ดี อยากร่วมโครงการด้วย เลยเกิดเป็นอีกโครงการ ชื่อว่า ‘ข้าวชาวนา แลกปลาในทะเล’ ก็คือส่งข้าวมาให้ชาติพันธุ์ชายฝั่งเหมือนกัน แต่โฟกัสไปที่หมู่เกาะที่เขาหาปลาไม่ได้ อย่างเช่นหมู่เกาะสุรินทร์ที่อยู่ในเขตซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ คือแลกให้ปลามันยังได้อยู่ในทะเลเหมือนเดิม (หัวเราะ)

ตอนนี้โครงการเราถือว่าเข้ามาอยู่ในเฟสสองแล้วครับ เพราะได้รับเสียงตอบรับจากสังคมค่อนข้างดี ก็เกิดเป็นการแลกปลากับของใช้อื่นๆ เครื่องอุปโภค บริโภค โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมมือด้วย เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่มีแค่ข้าวสารเท่านั้นที่จำเป็น แต่ในยุคนี้เครื่องใช้อื่นๆ ก็จำเป็นเหมือนกัน

ที่สำคัญคือตอนนี้เรามองไปไกลกว่านั้นด้วย คือเราจะขยายผลให้กลายเป็นโครงการระยะยาว ตอนแรกโครงการข้าวแลกปลาเนี่ยมันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนผลผลิตการทางเกษตรกำลังจะกลับมา เพราะคนมองเห็นความสำคัญของการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

เลยเกิดเป็นเพจ ‘แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน’ ขึ้น เพราะเราเห็นว่าโครงการแลกเปลี่ยนที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำกันเอง แล้วได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐฯ มันถูกต้องแล้ว การจัดการจากภาคประชาชนจะยั่งยืนกว่า ในขณะที่ภาครัฐสามารถขนส่งได้ด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า ที่สำคัญคือมันมีคุณค่าของเราอยู่ในนั้น ในฐานะของผู้แลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่การร้องขอ มันคือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อยู่ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวนากับชาวเลด้วย

การสร้างเครือข่ายคือกุญแจสำคัญ
วารินทร์ ทวีกันย์ (กรรมการสมาคมชาวยโสธร)

เราได้ข่าวจากมูลนิธิชุมชนไทยก็เริ่มคุยกันในกลุ่มเลยครับ เพราะเรามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมาก่อนอยู่แล้ว คือตั้งแต่ช่วงที่ข้าวราคาตกในปี 2559 พี่น้องชาวนายโสธรเราก็เริ่มมีการรวมตัวกันเลย เพื่อให้ชาวนาได้ขายข้าวให้กับผู้บริโภคโดยตรง จัดเป็นโครงการอยู่ราวสิบวัน ก็ได้รับผลตอบรับดีมาก หลังจากนั้นชาวนาในยโสธรส่วนใหญ่ก็มีการรวมตัวกันเลย เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้าง เป็นกลุ่มโรงสีชุมชนบ้าง เรียกว่าเรามีเครือข่ายที่ค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว พอมีแนวคิดเรื่องข้าวแลกปลาขึ้นมาเราก็แจ้งไปยังเครือข่ายเราได้เลย

2-3 วันแรกนี่เราได้ข้าวมาเยอะมากนะครับ คือมีผู้เจตนาส่งข้าวเข้าร่วมโครงการประมาณ 16 ตันเลย แต่ว่าด้วยเรื่องการขนส่งทำให้เราต้องจำกัดน้ำหนัก เฟสแรกเราจึงส่งไปได้แค่ไม่ถึงสิบตันเท่านั้น ภายในอาทิตย์เดียวเราก็ติดต่อขอความร่วมมือไปยังกองทัพอากาศเพื่อมาสนับสนุนเรื่องการขนส่งได้เรียบร้อย โดยที่เรากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้หลวมๆ ว่าเป็นข้าว 4 กิโลกรัม ต่อปลาทะเลตากแห้งหรือปลาทะเลแปรรูป 1 กิโลกรัม ซึ่งข้าวที่ส่งมาแลกนี้ ผมคิดว่า 80% คือข้าวอินทรีย์ ข้าวออร์แกนิกเลยนะครับ นาข้าวบางผืนคือนาที่ปลูกข้าวเกรดส่งออกเลยด้วยซ้ำ แต่การแลกเปลี่ยนครั้งนี้เราไม่ได้มองมูลค่าของข้าวในมุมนั้น เรามองเห็นเรื่องคุณค่าที่เราได้แลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันมากกว่า

นอกจากเรื่องเครือข่ายที่ติดต่อกันอยู่ตลอด ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนข้าวนี่อยู่ในวิถีชีวิตเดิมของคนอีสานอยู่แล้ว เมื่อก่อนตอนที่ทุ่งกุลายังไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะมีการเอาเกลือจากทุ่งกุลามาแลกข้าว มีการเอาปลาร้ามาแลกข้าว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ พอมีโครงการนี้มา การติดต่อกับเครือข่ายที่เราเชื่อใจ ไว้ใจกันอยู่แล้ว มันก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น จริงๆ เราจะเลือกบริจาคเลยก็คงจะได้เหมือนกัน แต่อย่างที่ทุกฝ่ายบอก เรามองเห็นตรงกันว่าการแลกเปลี่ยนมันคือการได้มาโดยเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตอนนี้เราจึงต่อยอดไปเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ใช้การแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพื่อให้คนเข้าถึงอาหารได้อย่างทั่วถึง สิ่งที่ต้องขายเราก็ขายในราคาที่ย่อมเยา เพราะเป็นการขายโดยผู้ผลิต คนซื้อก็เป็นผู้ผลิตเหมือนกัน มันก็จะมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้องน้อยลง ทำให้คล้ายๆ กับระบบธนาคารอาหารหรืออะไรประมาณนี้ครับ แต่จะทำให้ยั่งยืนและเป็นโครงการระยะยาวในอนาคต

Human rice ของปกาเกอะญอและชาวเล
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (นักวิชาการชาวปกาเกอะญอ ศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว)

ปกาเกอะญอเราอยู่ในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) อยู่แล้ว คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง หมายถึง Indigenous people คือชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่นี้มาแต่เดิม ไม่ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากที่ไหนซึ่งพี่น้องชาวเลเขาก็อยู่ในสภาฯ เหมือนกับเราด้วย ทุกปีเราจะมีการจัดมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองขึ้น แล้วก็จะมีการขนข้าวขนปลามาแลกเปลี่ยนกัน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงวัฒนธรรม ไม่ได้คำนึงถึงราคาค่างวดอะไร เหมือนเป็นพิธีการประจำปีระหว่างพี่น้องชนเผ่าเราแบบนี้มากกว่า

พอมี Covid-19 เข้ามา เราก็ได้ทราบข่าวว่าพี่น้องของเราขายปลาไม่ได้ ซึ่งประกอบกับตอนนั้นพี่นองปกาเกอะญอก็กำลังมีปัญหาเรื่องไฟป่า ปลาแห้ง อาหารแห้งมันเป็นอาหารที่เราพกติดตัวเข้าป่าได้ง่าย เราก็เลยคิดว่าเอาอย่างนี้ดีไหม มาเอาปลามาแลกข้าวดอยของเรา ปกติพี่น้องชาวเลเขาไม่ได้ทำปลาตากแห้ง ปลาแดดเดียวกันมากขนาดนี้หรอก แต่นี่เขาก็กำลังทำเพื่อส่งมาแลกกับข้าวเรา

คนปกาเกอะญอนี่ต้องมีข้าวอยู่แล้ว ผมเรียกว่าปกาเกอะญอเราเป็น Human rice น่ะ เราเป็นคนที่ขวัญอยู่กับข้าว เรามี rice spirit หรือมีจิตวิญญาณของข้าวอยู่กับตัวเรา ผมมองว่าสำหรับชาวปกาเกอะญอ ข้าวเป็น 3 อย่างสำคัญ ข้อที่หนึ่งคือ Rice is root. ข้าวคือรากฐานของปกาเกอะญอ คือพื้นฐานทางนิเวศวัฒนธรรม สองคือ Rice is right. ข้าวคือสิทธิขั้นพื้นฐาน เราต่อสู้กันมาตลอดเพื่อที่จะมีพื้นที่ในการปลูกข้าวของเราเอง และสามคือ Rice is life. ข้าวคือชีวิตของคนปกาเกอะญอ ตั้งแต่เกิดจนตาย พิธีกรรมต่างๆ ของเรามีข้าวอยู่ในนั้นเสมอ

ในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเราจะแบ่งข้าวออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ใหญ่ที่สุดเราไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่สองมีไว้สำหรับแขกที่มาเยือน และมีไว้ให้สัตว์เลี้ยง ส่วนที่สามเรามีไว้สำหรับพิธีกรรม อย่างเช่น การเลี้ยงเจ้าที่ ก่อนที่เราจะเผาไร่เพื่อเตรียมพักไร่หมุนเวียน เราจะมีการเลี้ยงเจ้าที่ ซึ่งในความหมายนี้ก็คือการขอให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ไร่ก่อนที่เราจะเผา โดยจะต้องใช้ข้าวในพิธีนี้ด้วย หลังจากเผาไร่เสร็จเราก็จะต้องทำพิธีเพื่อให้เจ้าที่กลับมาสู่ไร่ของเราอีกเหมือนกัน พิธีกรรมนี้ก็จะต้องใช้ข้าวอีก

หรือว่าอย่างพิธีกินข้าวใหม่ เป็นพิธีที่เราจะเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวข้าวร่วมกัน ครอบครัวไหนที่ปีนี้ได้ผลผลิตข้าวน้อย เราก็จะแบ่งปันกัน โดยเฉพาะแม่ม่ายและเด็กกำพร้า ถือเป็นบุคคลเปราะบางที่ชุมชนจะต้องใส่ใจ ดังนั้นแล้วพอมีโครงการข้าวแลกปลาเกิดขึ้น ปกาเกอะญอเราจึงเข้าใจความสำคัญของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ได้โดยง่าย เพราะว่าวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนหรือการแบ่งปันเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความมั่นคงในอาหารได้อย่างเท่าเทียมคือสิ่งที่มีอยู่ในรากเหง้าของเรามาตั้งแต่เดิม

การแลกข้าวแลกปลากันครั้งนี้จึงมีความสำคัญหลายอย่าง หลายมิติ อย่างหนึ่งคือเมื่อเราบอกว่าเราเป็น Human rice เมื่อเราบอกว่าปกาเกอะญอเป็นผู้มีจิตวิญญาณของข้าวอยู่กับตัว การแลกข้าวกับพี่น้องชาติพันธุ์ทางใต้ พี่น้องชาวเล สำหรับผมจึงเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนรากเหง้าทางวัฒนธรรม เป็นการแลกเปลี่ยนสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตของกันและกันด้วย เพราะว่า rice นี้เป็นทั้ง root เป็นทั้ง right และเป็นทั้ง life ของเรา ในอีกแง่หนึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนแบบนี้คือการจัดการแบบ P2P ผมเรียกว่า เป็นทั้ง people to people และ producer to producer เมื่อผู้ผลิตแลกเปลี่ยนอาหารกันเองเราก็จะคำนึงถึงเรื่องต้นทุนกำไรน้อยลง และมองเห็นความเป็นมนุษย์ ความลำบากของกันและกันมากขึ้น เราเข้าใจกันมากขึ้นก็เพราะว่าเราคือเกษตรกร เราคือชาวประมง และที่สำคัญก็คือเราเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเหมือนกัน เราเป็นพี่น้องกัน ต่างกันที่ว่าคนปกาเกอะญออยู่ทางเหนือ ส่วนชาวเลอยู่ทางใต้เท่านั้นเอง

STORY BY เสาวลักษณ์ เชื้อคำ | 13.05.2020
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook มูลนิธิชุมชนไทย และคุณสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์)

Information Partner